กระดูกคอเสื่อม รักษาอย่างไร ไม่ผ่าตัด
กระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งอาการจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามากถึง 85% ของผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีนั้นมีหมอนรองกระดูกคอเสื่อม บางรายไม่แสดงอาการ บางรายมีอาการร่วมด้วยมากน้อยแตกต่างกัน
หากความเสื่อมเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหรือชา เหตุมาจากข้อต่อบริเวณคอเสื่อมและอักเสบ, กล้ามเนื้อคอทำงานหนักมากขึ้น, ช่องเส้นประสาทบริเวณคอปิดแคบลงทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ รวมไปถึงการขยับของหมอนรองกระดูกคอที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม โดยอาการที่เป็นไปได้จากกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอเสื่อม คือ
- อาการปวดคอ สะบัก ร้าวไปที่แขน บางรายร้าวไปถึงมือ อาการสัมพันธ์กับท่าทางของคอโดยเฉพาะท่าหันและเงยศีรษะ
- ปวดแปล๊บๆ เหมือนไฟดูด หรือมีอาการชาบริเวณดังกล่าว ร้าวไปที่แขนมือ หรือ บริเวณนิ้ว
- ลายมือเปลี่ยนไป ติดกระดุมไม่ถนัด หรือใช้มือได้ไม่คล่องเหมือนเคย
มืออ่อนแรง ยกขวดน้ำ หรือแก้วน้ำไม่ไหว
- ผู้ป่วยมีอาการเดินได้ลำบากขึ้น ทรงตัวได้แย่ลง หากเป็นมากขึ้นจะเดินช้าลงและเดินกางขาโดยไม่รู้ตัว
- หากการกดทับเส้นประสาทเป็นไปมากแล้วผู้ป่วยจะไม่สามารถกกลั้นปัสสาวะหรือกลั้นอุจจาระได้
อาการเหล่านี้ มีสาเหตุได้จาก
1. ตัวหมอนรองกระดูกนั้นมีอาการเสื่อมร่วมกับเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกมีความสูงที่ลดลง หากทรุดลงมากอาจพบกระดูกคอเกิดการสัมผัสกดกัน เกิดอาการปวดขึ้น ซึ่งความเสื่อมนี้มักจะพบหลังจากอายุ 40 ปี
2. เกิดจากหมอนรองกระดูกคอมีการเคลื่อนหรือแตก ส่งผลให้ตัวเนื้อหมอนรองกระดูกนั้นไปทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรงบริเวณสะบัก แขน หรือมือได้
3. ถัดไปคือกระดูกงอก เมื่อความเสื่อมเป็นไปมากขึ้น ตัวกระดูกคอจะมีการงอกออกมาเพื่อทดแทนความแข็งแรงของกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอที่เสื่อมไป กระดูกที่งอกออกมานี้เองที่จะกดทับต่อเส้นประสาทคอ หรือโคนเส้นประสาทคอ ส่งผลทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้
4. เกิดจากการตึงตัวและการอักเสบของตัวเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อต่อกระดูกคอ ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณคอ ได้โดยอาการจะสัมพันธ์กับท่าทางและกิจกรรมต่างๆ
แนวทางการรักษา
การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม สามารถทำได้โดยเริ่มจากการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด เพราะอาการดังกล่าวสามารถเกิดจาก กระดูก, ข้อต่อ, กล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูก, หรือเส้นประสาทก็ได้ แพทย์จะใช้การซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นหลักในการวินิจฉัยหาสาเหตุ บางครั้งอาจต้องใช้เอ็กซเรย์ (X-ray) หรือ MRI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
หลังจากทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้ว แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย ซึ่งพบว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัดนั้นได้ผลดีกับโรคกระดูกคอเสื่อมทั้งที่อาการเพิ่งเริ่มเป็น และเป็นไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการฉีดยาด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นมากแล้ว ก็สามารถมีอาการดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้
การฉีดยาด้วยเทคนิคพิเศษนี้ จะฉีดภายใต้เครื่องเอ็กซเรย์ (X-ray) ซึ่งทำให้มีความแม่นยำและใช้ยาปริมาณน้อย ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด โดยยาที่ฉีดประกอบไปด้วยยาลดการอักเสบและยาลดปวด ส่งผลให้อาการปวด อาการชา และอ่อนแรงของผู้ป่วยลดลงในระยะเวลาต่อมา นอกจากนี้การฉีดยาบริเวณเส้นประสาทคอนั้นสามารถช่วยในการวินิจฉัย และช่วยยืนยันตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับและเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าวเพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาในอนาคตได้อีกด้วย
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด จึงเหมาะกับ
- ผู้ป่วยที่มีอาการเสื่อมยังไม่มาก
- ผู้ป่วยที่อาการเป็นมากขึ้น รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้ว แต่ไม่อยากได้รับความเสี่ยงจากการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัด แต่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถเข้าผ่าตัดได้
การรักษาที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมาจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องด้วย ขั้นตอนการวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งของข้อต่อที่อักเสบ หรือเส้นประสาทที่ถูกกดทับถึงสำคัญที่สุด
สุดท้ายนี้ แม้ว่าโรคกระดูกคอเสื่อมจะเป็นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่การหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมไปถึงการฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง จะสามารถชะลอการเสื่อมและทำให้มีอาการลดลงได้ รวมไปถึงการรักษาโรคนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะรักษาง่ายกว่า และได้ผลการรักษาที่ดีกว่าครับ วันนี้หมอลาไปก่อน พบกันใหม่บทความหน้า
ข้อมูลเพิ่มเติม : pgslot